วันอาทิตย์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2562



การพนัน   ก่อนอื่น  เราควรจะมาวิเคราะห์ศัพท์  “การพนัน”  คืออะไรเสียก่อนและนอกจากนั้น
เราก็ยังมีคำไทย ๆ อีกคำหนึ่ง  เรียกว่า  “ขันต่อ”  ซึ่งเรามักจะพูดรวม ๆ  กันไปว่าการพนันขันต่อ  ผมก็อยากจะชี้แจงว่า  การพนัน  คืออะไร  ขันต่อ  คืออะไร  เสียก่อน  เพราะการพนันขันต่อไม่มีบทวิเคราะห์ศัพท์ไว้  ณ  ที่ใด  ซึ่งพวกที่ชอบหาความสนุกความสำราญจากกีฬาในร่ม  มักจะมาไต่ถามกันอยู่เสมอ  แต่อย่างไรก็ดีในเรื่องนี้ศาลฎีกาก็ได้ให้คำพิพากษาไว้เป็นบรรทัดฐานแล้วว่า  การพนันจะต้องมีการได้เสียเงินทองหรือทรัพย์สินอย่างเห็นได้ชัดแจ้ง  มิใช่มีแต่ได้หรือเสียแต่อย่างเดียว  เข้าทำนองได้เสียกินกันหาใช่การพนันไม่  เช่น  การเล่น  การเล่นตามสโมสร  เพื่อเอาอาหารมารับประทาน  เอาสุรามาดื่ม  หรือ เอาบุรีมาสูบกัน  เป็นต้น
ในประมวลกฎหมายแพ่ง  ได้แยกคำของคำว่าการพนันหรือขันต่อไว้ต่างหากจากกันพอจะอธิบายความหมายของคำว่า  การพนันและขันต่อได้ดังนี้
“การพนัน  คือ  การเข้าเล่นเสี่ยงโชคซึ่งต้องใช้ไหวพริบและฝีมือมาพนันเอาทรัพย์สินกันจะโดยชอบหรือมิชอบด้วยกฎหมายก็ตาม  เช่น  การเล่นการพนันไพ่ตอง  บิลเลียดรู  และตีผี  เป็นต้น”          “ขันต่อ”  คือ  การเล่นที่บุคคลสองฝ่ายมีความเห็นตรงข้ามในเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง  ซึ่งไม่แน่นอน  อันจะเกิดขึ้นในอนาคตและได้มาตกลงกันว่า  ถ้าเหตุการณ์เป็นไปตามนั้นจริง  ฝ่ายหนึ่งแพ้และอีกฝ่ายหนึ่งชนะ  ฝ่ายแพ้จะต้องเสียเงินให้แก่ผู้ชนะตามที่ได้ตกลงกันไว้เช่นพนันกันว่าสะพานจะเปิดเมื่อใด ใครจะเป็นอธิบดีกรมตำรวจคนต่อไป            แชมเปี้ยนโลกมวยสากลคนต่อไปคือใครเป็นต้น
ในกฎหมายซึ่งเกี่ยวกับการพนันโดยตรงซึ่งได้แก่พระราชบัญญัติการพนัน  ก็มิได้แยกคำวิเคราะห์ศัพท์ไว้เช่นเดียวกัน  แต่อย่างใดก็ดี  ได้มีมาตรา 4 ทวิ  บัญญัติเพิ่มเติมไว้เพื่อขยายความหมายของคำว่า  การเล่นในพระราชบัญญัติการพนัน  ให้หมายความรวมตลอดถึงการทายและการทำนายด้วย  ซึ่งเท่ากับว่า  คำว่าการพนันนั้นกินความรวมทั้งการขันต่อด้วย
ลักษณะทั่วไปของการพนันจะเป็นความผิดอาญาก็ต่อเมื่อกฎหมายบัญญัติห้าม  หรือไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานและพนันเอาทรัพย์สินกันด้วย  ซึ่งเรื่องนี้ในตัวบทของพระราชบัญญัติการพนันได้แยกลักษณะความผิดถึงเรื่องการห้ามมิให้อนุญาตจัดให้มีหรือเข้าเล่น  หรือเข้าพนันในการเล่นอันระบุไว้ในบัญชี  ก.  ท้ายพระราชบัญญัติการพนันหรือการเล่นซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกัน หรือการเล่นร้ายแรงอื่นใด  ซึ่งรัฐมนตรีเจ้าหน้าที่ได้ออกกฎกระทรวงระบุเพิ่มเติมห้ามไว้  แต่เมื่อรัฐบาล พิจารณาเห็นว่า  ณ  สถานที่ใดสมควรจะอนุญาตภายใต้บังคับเงื่อนไขใด ๆ  ให้มีการเล่นชนิดใดก็อนุญาตได้  โดยออกพระราชกฤษฎีกา  จากบทบัญญัตินี้จะเห็นได้ว่ากฎหมายได้ห้ามการอนุญาตจัดให้มี  หรือเข้าเล่นหรือเข้าพนันไว้อย่างเด็ดขาดคนจัดให้มีอาจจะไม่ได้เล่น  คนเล่นอาจจะไม่ได้พนัน  แต่ผู้พนันจะต้องเป็นผู้เล่นเสมอ  ซึ่งมาจากมาตรา 4 ทวิ  ที่อธิบายความหมายของคำว่า  การเล่น ซึ่งมีความหมายรวมตลอดถึงการทายและทำนายด้วยนั้นเอง  ซึ่งการจัดให้มี  หรือเข้าเล่น  หรือเข้าพนันในการเล่นตามความในวรรคนี้  จะต้องได้รับอนุญาตก่อน  ซึ่งจะทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย  แต่ทางที่จะทำให้ได้รับอนุญาตโดยชอบนั้นทำได้ยากยิ่ง  เพราะรัฐบาลจะได้อนุญาตก็ต่อเมื่อได้ออกเป็นพระราชกฤษฎีกาแล้ว  ความต้องการเล่นในขณะที่ขอกับเวลาที่จะได้รับอนุญาตห่างไกลกันมาก  และโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางการก็ไม่มีนโยบายที่จะอนุญาตด้วยก็เป็นผลให้ไม่มีทางจะอนุญาตให้มีการเล่นการพนันตามบัญชี ก.  ได้เลย
ส่วนการเล่นในบัญชี  ข.  ท้ายพระราชบัญญัติการพนันหรือการเล่นซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกัน  หรือการเล่นอื่นใด ซึ่งรัฐมนตรีได้ออกกฎกระทรวงระบุเพิ่มเติมไว้ในบัญชี ข.  จะจัดให้มีขึ้นเพื่อเป็นทางนำมาซึ่งผลประโยชน์แก่ผู้จัดโดยทางตรงหรือทางอ้อมได้  ต่อเมื่อรัฐมนตรีเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตเห็นสมควร  และออกใบอนุญาตให้หรือมีกฎกระทรวงอนุญาตให้จัดขึ้นโดยไม่ต้องมีใบอนุญาต